ทัวร์พม่าได้เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “นัต” ส่วนใครที่ยังไม่รู้ว่านัต คืออะไร ทัวร์พม่าก็ขอเรียกแบบง่ายๆว่า ผีหรือภูติ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความเชื่อของชาวพม่า และถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งท่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่เลยก็ว่าได้ โดยปกติชาวพม่า ติดต่อกับนัตในหลายรูปแบบ มีทั้งการกราบไหว้ เซ่นสรวง ลงทรง เพื่อขอความคุ้มครอง บนบานสานกล่าว หรือบัดพลีเมื่อคำขอเป็นผลสัมฤทธิ์ รูปแบบของการเซ่นไหว้นัตในเรือน นัตตามศาล และนัตที่อยู่รายรอบพระเจดีย์นั้นส่วนใหญ่กระทำคล้ายๆกัน มีพิธีรีตองและเครื่องเซ่นแตกต่างกันอยู่บ้างขึ้นอยู่กับนัตแต่ละตน นัตบางตนนิยมมังสวิรัติ กินเฉพาะผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ นัตบางตนชอบอาหารดิบ อาทิ ปลาดิบ เนื้อดิบ นัตบางตนชอบของมึนเมา ดื่มเหล้าเมายายามประทับทรง บางตนชอบพิณ บางตนชอบขลุ่ย บางตนชอบหมวก บางตนชอบหุ่นม้า และบางตนชอบบุหรี่ เป็นต้น
นอกจากเซ่นไหว้ด้วยสิ่งโปรดของนัตแต่ละตนแล้ว คนพม่ายังนิยมเซ่นไหว้ด้วยเครื่องบูชาที่จัดวางบนถาดหรือพาน เรียกรวมว่ากะเดาะบะแว โดยกะเดาะบะแวประกอบด้วยผลมะพร้าว ๑ ผล กล้วย ๓-๕ หวี หมาก พลู และยาเส้น เป็นสำคัญ มะพร้าวที่ถวายต้องเป็นมะพร้าวสด คัดผลงามไร้ตำหนิ บางทีก็ทาผลมะพร้าวเป็นสีทอง อาจชะโลมด้วยน้ำหอมหรือน้ำอบกลิ่นจันทน์ ส่วนกล้วยนั้นต้องเป็นกล้วยดิบ อาจเป็นกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยนาก ที่ทาสีทองก็มีเช่นกัน บ้างก็ตกแต่งด้วยมาลัยมะลิหรือกุหลาบ การเซ่นไหว้ด้วยมะพร้าวและกล้วยนั้น พบว่าคล้ายกับการบูชาเทพของชาวฮินดู ต่างกันที่ฮินดูจะบูชาเทพด้วยมะพร้าวที่ปอกเปลือก ส่วนมะพร้าวที่ใช้บูชานัตของชาวพม่านั้นจะถวายทั้งผล โดยไม่ปอกเปลือก และต้องเป็นผลที่มีก้านจุกติดอยู่กับขั้วอีกด้วย นอกจากเซ่นไหว้ด้วยกะเดาะบะแวตามกล่าวนี้ อาจเซ่นไหว้นัตด้วยเครื่องทรง อาทิ ผ้าคาดศีรษะที่เรียกว่าคองปอง ผ้าคลุมไหล่หรือปะวา และผ้าโสร่งหรือโลงชี ชาวบ้านนิยมถวายเครื่องเซ่นที่เป็นเครื่องทรงให้กับรูปปั้นนัต ชื่อ โพด่อตะจา (พระอินทร์) กับ โพโพจี (พ่อปู่) ซึ่งประทับยืนอยู่ในเขตพระเจดีย์ โดยนุ่งถวายให้กับรูปปั้นนัต บางคราวนุ่งซ้อนทับกันหลายสิบผืน เพราะต่างคนต่างก็ถวายเครื่องทรง จนรูปนัตดูอ้วนผิดสังเกต การเซ่นไหว้ด้วยกะเดาะบะแวดูจะมีพิธีรีตองน้อยที่สุด ผู้เซ่นไหว้สามารถวางเครื่องบูชาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามในศาลนัตบางศาล จะมีผู้ประกอบพิธี ที่พม่าเรียกว่านัตเทง คอยบริการประกอบพิธีให้แก่ผู้มาเซ่นไหว้ นัตเทงนี้จะเป็นผู้ทำหน้าที่ถวายเครื่องเซ่นและช่วยขอพรให้กับผู้เซ่นไหว้ รูปแบบจึงดูคล้ายกับการบูชาเทพเจ้าในเทวาลัยของชาวฮินดู
ในบ้านที่บูชานัตเรือน จะมีการเซ่นไหว้เป็นประจำสม่ำเสมอ หิ้งบูชามีงมหาคีรินัตซึ่งเป็นนัตเรือนจะตั้งอยู่ภายในบ้าน โดยจะต้องตั้งติดอยู่กับผนังซ้ายส่วนหน้าของบ้าน เจ้าบ้านจะเซ่นไหว้นัตเรือนด้วยผลมะพร้าวคาดแถบผ้าสีแดง ใส่ในตะกร้าปิดม่านแดงแขวนไว้ ที่เลือกใช้มะพร้าวบูชานัตเรือนก็เพราะถือว่ามะพร้าวก็คือตัวแทนมีงมหาคีริ มะพร้าวที่จะนำมาบูชาจะต้องเป็นมะพร้าวที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เพราะมะพร้าวที่อ่อนเกินไปนั้นจะเน่าเสียง่าย หากเป็นมะพร้าวที่แก่มากไปน้ำมะพร้าวก็จะแห้งไว ดังนั้นจึงต้องเลือกผลมะพร้าวขนาดพอดี มีรูปทรงดูงาม และไม่มีตำหนิ สำหรับแถบผ้าสีแดงที่ใช้คาดผลมะพร้าวนั้น บ้างเชื่อว่าเป็นตัวแทนของชเวเมียตหน่าผู้เป็นน้องสาวของมีงมหาคีริที่กระโดดเข้ากองไฟตายตามพี่ชาย สีแดงจึงเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและเคียดแค้น บ้างเชื่อเพียงว่าสีแดงเป็นสีแทนนัต เป็นสีแห่งความกล้าหาญ ความสะดวกราบรื่น และทำมาค้าขึ้น ในภายหลังยังนิยมนำผ้าขาวมาประกอบเครื่องบูชาอีกด้วย โดยนำมาคาดอยู่ใต้ผ้าแดง ด้วยเชื่อว่าเป็นสีแทนมีงมหาคีริ หมายถึงความสุขุมเยือกเย็น บ้างกล่าวว่าเป็นสีแทนพุทธศาสนา ส่วนที่ต้องกั้นผ้าแดงไว้กับเครื่องบูชาด้วยนั้นเป็นเพราะเกรงว่าความร้อนจากแสงไฟอาจกระทบเครื่องบูชา ทั้งนี้เพราะมีงมหาคีรินั้นตายในกองเพลิง หากต้องแสงไฟก็จะทำให้มีงมหาคีริสะเทือนใจและหนีจากไป ผลก็คือบ้านนั้นก็จะอยู่ไม่เป็นสุข บ้างเชื่อว่าอาจเป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านได้อีกด้วย การถวายเครื่องบูชานัตเรือนนี้ถือเป็นกิจของเจ้าของบ้านที่จะต้องคอยหมั่นดูแลอยู่เสมอ คนภายนอกจะเข้ามาแตะต้องเครื่องบูชานี้ไม่ได้ เพราะอาจทำให้เจ้าบ้านเจ็บไข้ เครื่องบูชานัตเรือนนั้นมีนัยน่าสนใจอยู่ว่า ด้วยประเทศพม่าเป็นเมืองในเขตร้อนและบางท้องถิ่นก็แห้งแล้งยิ่งนักโดยเฉพาะฤดูร้อน กอปรกับบ้านช่องมักปลูกสร้างด้วยไม้ จึงมีเหตุเพลิงไหม้อยู่เสมอ ฉะนั้นการบูชามีงมหาคีริไว้ในบ้านนับว่าช่วยสร้างความอุ่นใจและเป็นเครื่องเตือนสติในเรื่องฟืนไฟได้อย่างดี ส่วนมะพร้าวที่ใช้บูชานัตนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาแผลพุพองที่เกิดจากไฟลวก จึงเหมาะที่จะใช้ถวายมีงมหาคีริ นัยว่าเพื่อเป็นยาดับร้อน การเซ่นไหว้นัตเรือนของชาวพม่านั้น นับว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อความอบอุ่นภายในบ้านเช่นเดียวกับจารีตการบูชาผีบ้านผีเรือนของชาวพื้นเมืองอื่นๆในภูมิภาคแถบนี้นั่นเอง เพียงแต่ว่ามีงมหาคีรินัตมิใช่เป็นผีบรรพบุรุษของเจ้าบ้านเท่านั้น
นอกเหนือจากการเซ่นไหว้นัตตามกล่าวมาแล้ว ชาวพม่ายังมีการบวงสรวงลงทรงนัต เพื่อแก้บน หรือประกอบพิธีประจำปี ซึ่งเราจะเล่าให้ท่านฟังต่อในตอนต่อไป